Wednesday, June 6, 2007

ปัญหาหลังคารั่ว จากหนังสือ Home Care เล่ม 2

รายละเอียด
ในช่วงฤดูฝน ที่ฝนตกได้บ่อยครั้งนี้ ปัญหาหลังคารั่วจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นและพบเห็นได้โดยง่ายและมักจะเกิดจากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากกระเบื้องที่นำมามุงนั้นบิ่น แตกร้าวหรือปัญหาจากการติดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องยี่ห้อดังๆ หรือโนเนม ก็เห็นมีรั่วกันทั้งนั้น ดังนั้นก่อนที่สายฝนอันชุ่มฉ่ำจะแสดงผลงานบนฝ้าเพดานอันแสนสวยของเราเป็นด่างดวงด้วยลวดลายเชื้อราที่เรามิได้ปราถนา เราก็ควรรู้เท่าทันสาเหตุของการรั่วเสียก่อน จะได้แก้ไขทันการณ์ และถูกจุดแต่ก่อนอื่น เราควรจะมารู้จักวัสดุมุงหลังคาที่ใช้ในบ้านเรา และชื่อที่เรียกโครงหลังคาส่วนต่างๆก่อนเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันวัสดุมุงหลังคามีมากมายหลายแบบมาก ตั้งแต่ หลังคามุงจาก แป้นเกล็ดไม้ กระเบื้องหลังคาดินเผาหางว่าวหรือหางมน กระเบื้องหลังคาคอนกรีตรุ่นก่อนที่มีลักษณะเป็นแผ่นคอนกรีตบางๆแบนๆรูปสี่เหลี่ยมเปียกปูน แผ่นเหล็กชุบสังกะสีรูปลอน กระเบื้องใยหินซึ่งมีชื่อเรียกตามลักษณะลอนต่างๆ เช่น กระเบื้องลอนเล็ก กระเบื้องลอนใหญ่ กระเบื้องลอนคู่ กระเบื้องคอนกรีตที่นิยมเรียกทับชื่อยี่ห้อว่า CPAC-MONIER ทั้งๆที่มีมากมายหลายยี่ห้อ เช่น V-CON,ตราเพชร กระเบื้องคอนกรีตอัดแรงขึ้นรูปแบนๆ กระเบื้องหลังคาเซรามิค แผ่นเหล็กเคลือบสังกะสีและสีที่เรียกกันทั่วไปว่า Metal Sheet กระเบื้องใยหินเลียนแบบแป้นเกล็ดไม้ เป็นต้น แต่วัสดุมุงหลังคาที่นิยมใช้โดยทั่วไปและพบเห็นได้ง่ายในท้องตลาด มี 2 ชนิดด้วยกัน คือ กระเบื้องซีแพคและกระเบื้องใยหินลอนต่างๆ ซึ่งเมื่อท่านได้เลือกใช้กระเบื้องยี่ห้อไหนและรุ่นไหนแล้วกรุณาจดจำไว้ให้ดี เพราะว่ากระเบื้องต่างยี่ห้อ หรือต่างรุ่นกันนั้น ที่ดูเหมือนๆกันนั้นจะมีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่แตกต่างกัน เช่น ขนาดของกระเบื้อง ลักษณะลอนกระเบื้อง เป็นต้น ซึ่งการไปหาซื้อกระเบื้องที่มีลักษณะคล้ายกันมาซ่อมเสริมเติมแต่งในภายหลังนั้นอาจจะทำให้ไม่สามารถซ้อนทับกันได้พอดี ในส่วนโครงสร้างหลังคาหลักๆนั้น โดยทั่วไป ตัวกระเบื้องมุงจะวางอยู่บนส่วนของโครงหลังคาที่เรียกว่า"แป" ซึ่งแปก็จะวางอยู่บนส่วนของโครงหลังคาที่เอียงลาดไปตามผืนหลังคา ซึ่งเรียกว่า"จันทัน" ส่วนของโครงหลังคาที่รับปลายจันทันด้านบนตามแนวสันหลังคาจะเรียกว่า"อกไก่" และส่วนของโครงหลังคาที่รับด้านล่างของตัวจันทันเรียกว่า "อะเส" ซึ่งส่วนปลายของอะเสนี้ มักจะวางพาดอยู่บนหัวเสา ในส่วนปลายของจันทันจะมีชิ้นส่วนที่เรียกว่า"เชิงชาย"ปิดปลายจันทัน ยาวไปตามแนวชายคา มี"ไม้ปิดลอน"ซ้อนทับเชิงชายและปิดช่องโค้งใต้แผ่นกระเบื้องมุงหลังคา ส่วนบริเวณหน้าจั่วหลังคาจะเรียกชิ้นส่วนปิดขอบข้างโครงหลังคาว่า "ปั้นลม" บริเวณที่ผืนหลังคาลาดเอียงลงมาชนกัน และทำให้เกิดร่องนั้น เรียกว่า "ตะเฆ่ราง" ส่วนบริเวณที่ผืนหลังคาสองผืนมาชนกันและก่อให้เกิดสันหลังคาไปตามแนวเอียงของผืนหลังคานั้น เรียกว่า"ตะเฆ่สัน" ส่วนสันหลังคาด้านบนที่เป็นแนวขนานกับพื้นดินนั้น เรียกว่า"สันหลังคา"
สาเหตุที่ทำให้หลังคารั่วก็มีดังนี้1. เนื่องจากโครงสร้างหลังคาในส่วนที่เป็น“แป”แอ่น แนวทอ้งแปตกท้องช้างทำให้กระเบื้องหลังคาไม่อยู่ในระนาบ เกิดอาการแอ่นไปมา การซ้อนทับกันของแผ่นกระเบื้องหลังคาไม่สนิทกันเรื่องของเรื่องอาจจะมาจาก ความอยากประหยัด ลดต้นทุนในการก่อสร้าง วางระยะห่างระหว่างจันทันมากจนเกินไปหรือใช้ขนาดของแปที่เล็กเกินไป งานนี้การแก้ไขทำได้ยากมาก และแพงเสียด้วย ดังนั้นควรดูแลตั้งแต่ต้นเมื่อเริ่มทำการก่อสร้าง ไม่ใช่หลังจากมุงกระเบื้องหลังคาเสร็จแล้ว เพราะการจะเพิ่มขนาดแปนั้น ก็จำเป็นต้องรื้อกระเบื้องมุงหลังคาออกเสียก่อนและอาจจะต้องทำความเสียหายให้ในอีกหลายๆส่วนที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่อง หรือการจะเพิ่มจำนวนจันทันนั้นก็ต้องตรวจสอบขนาดโครงสร้างเดิมเสียก่อนว่า สามารถรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้อีกหรือไม่และยังอาจจะต้องรื้ออะไรต่อมิอะไรให้วุ่นวายไปอีกมากมายจากความโลภที่คิดลดต้นทุนค่าก่อสร้างในสิ่งที่ไม่ควรในตอนแรก ทำให้อาจจะต้องเสียใจสูญทรัพย์และเวลาเพิ่มขึ้นมาก2. การมุงกระเบื้องมีระยะซ้อนทับน้อยเกินไป หรือวางการซ้อนทับผิดทิศทางลมฝน ซึ่งกระเบื้องมุงหลังคาโดยทั่วไปนั้น เป็นการวางแผ่นกระเบื้องหลังคาซึ่งเป็นชิ้นส่วนย่อยๆประกอบขึ้นเป็นผืนหลังคาทั้งหมด ย่อมก่อให้เกิดรอยต่อระหว่างการซ้อนทับของแผ่นกระเบื้องมุง ระยะซ้อนทับหรือทิศทางการซ้อนทับนี้ เป็นจุดหนึ่งที่มักก่อให้เกิดน้ำฝนย้อนเข้ามาใต้ผืนหลังคา ทั้งเนื่องจากระยะซ้อนทับไม่มากพอไม่สัมพันธ์กับองศาความลาดชันของผืนหลังคาหรือทิศทางการซ้อนทับไม่สัมพันธ์กับทิศทางลมฝน หรือต้องการประหยัดวัสดุมุงหลังคาจึงลดระยะการซ้อนทับของแผ่นกระเบื้องมุง และในส่วนรอยต่อด้านข้างระหว่างแผ่นกระเบื้องนั้น ถ้าหากว่าเป็นกระเบื้องใยหินลอนต่างๆนั้นต้องดูทิศทางลมฝนที่เกิดขึ้นเป็นประจำในถิ่นด้วย เพราะรอยต่อด้านข้างของแผ่นกระเบื้องลอนดังกล่าวนี้จะเป็นจุดที่น้ำฝนสามารถย้อนเข้าไปได้ ถ้าหากว่าวางอยู่ในทิศทางที่ปะทะกับลมฝน จึงต้องมุงกระเบื้องลอนในทิศทางที่ย้อนกับทิศทางลมฝน เพื่อให้รอยต่อด้านข้างระหว่างแผ่นกระเบื้องลอนได้มีส่วนสันกระเบื้องซึ่งอยู่สูงกว่ารอยต่อนี้ เป็นตัวสร้างเงาฝน ไม่ให้ลมฝนปะทะรอยต่อโดยตรง ซึ่งในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านอกจากการเอาถังพลาสติกไปรองรับน้ำฝนหรือการเอาผ้ายางคลุมหลังคานั้นก็มีการใช้วัสดุพวกเทปกาวยางปิดรอยรั่วเป็นการชั่วคราวก่อนที่จะต้องมีการรื้อหลังคาและมุงใหม่ให้ถูกต้องเป็นการถาวรต่อไป3. ความลาดชันของผืนหลังคาน้อยเกินไป เนื่องจากกระเบื้องแต่ละประเภทจะมีกำหนดองศาของความลาดชันของผืนหลังคาที่แตกต่างกันเพื่อป้องกันปัญหาน้ำฝนย้อนเข้าไปตามรอยต่อซึ่งผู้ผลิตจะกำหนดระยะซ้อนทับและความลาดเอียงของผืนหลังคาที่เหมาะสมและแนะนำให้ใช้ตามที่ระบุ แต่ในบางครั้งที่จำเป็นต้องเลือกใช้วัสดุมุงหลังคาซึ่งไม่เหมาะสมกับความลาดชันของผืนหลังคาจำเป็นต้องเพิ่มระยะซ้อนทับระหว่างแผ่นกระเบื้อง เพื่อป้องกันปัญหาน้ำฝนย้อนเข้าใต้กระเบื้องหลังคาซึ่งในการแก้ไขนั้น ถ้าหากว่าไม่สามารถเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาให้เหมาะสมกับองศาความชันของผืนหลังคาแล้วก็จำเป็นต้องรื้อวัสดุมุงหลังคาออกมาจัดระยะแปใหม่ เพื่อเพิ่มระยะซ้อนทับระหว่างแผ่นกระเบื้อง แต่ก็ควรระวัง ถ้าหากว่าแปมีระยะที่ใกล้กันมากขึ้น จำนวนแถวกระเบื้องย่อมเพิ่มขึ้นและเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างหลังคาซึ่งถ้าหากว่าจำนวนแถวกระเบื้องที่เพิ่มขึ้นมีมากกว่าร้อยละยี่สิบของแถวเดิมแล้วควรปรึกษาวิศวกรในเรื่องการรับน้ำหนักของโครงสร้างหลังคาเพราะโดยปกติแล้วโครงสร้างหลังคาจะถูกออกแบบมาให้รับน้ำหนักตัวมันเอง แรงลมและน้ำหนักคนเดินอีกนิดหน่อยเท่านั้น4. ปัญหาจากการยึดติดกระเบื้อง โดยปกติแล้วกระเบื้องคอนกรีตจะมีรูที่ด้านบนแผ่นกระเบื้องสำหรับยึดกับแปด้วยสกรูหรือตะปูแล้วแต่ว่าแปนั้นเป็นไม้หรือเป็นเหล็ก แต่สำหรับกระเบื้องใยหินลอนต่างๆนั้นจะต้องมีการเจาะรูกระเบื้องถ้าหากว่าเป็นการยึดกระเบื้องกับแปด้วยสกรูหรือตะปูแต่ถ้าหากว่าเป็นการยึดกระเบื้องกับแปด้วยขอเกี่ยวแล้ว ก็ไม่ต้องเจาะรูกระเบื้อง โดยปกติการเจาะรูกระเบื้องนั้น ควรจะใช้สว่านเจาะ เพราะด้วยความคมของดอกสว่านความเร็วรอบของการหมุนดอกสว่าน และการเจาะรูที่ไม่สร้างแรงกระแทกรุนแรงนั้นจะไม่ทำให้กระเบื้องแตกร้าวเป็นแนวยาวได้ ซึ่งจะเป็นจุดที่ก่อให้เกิดน้ำรั่วเข้าได้ซึ่งการซ่อมแซมก็เป็นได้แบบง่ายๆตั้งแต่เอาวัสดุพวกเทปกาวยางสำหรับอุดรอยรั่วหลังคามาปิดรูหรือรอยแตกที่ว่านี้หรือจะเลือกวิธีเปลี่ยนกระเบื้องแผ่นใหม่ก็ได้5. ถ้าหากหลังคามุงด้วยกระเบื้องใยหิน ซึ่งมีราคาถูกกว่ากระเบื้องคอนกรีทแต่ก็จะมีโอกาสรั่วมากขึ้นตามการติดตั้ง เช่นท ในการติดตั้งกระเบื้องใยหิน ซึ่งจะมีการซ้อนทับบริเวณมุมกระเบื้องเป็นจำนวน 4 แผ่นซึ่งจะต้องมีการตัดมุมกระเบื้องออก 2 แผ่น เนื่องจากช่องว่างที่เกิดจากการซ้อนทับของกระเบื้องที่ไม่ตัดมุมจะทำให้รอยต่อระหว่างแผ่นกระเบื้องดังกล่าว เกิดเป็นช่องว่างระหว่างแผ่นทำให้เป็นการเปิดช่องให้น้ำฝนสามารถรั่วเข้าไปได้โดยง่ายท การเจาะรูเพื่อยึดแผ่นกระเบื้องใยหินกับแป จะต้องเจาะให้ทะลุกระเบื้องทั้ง 2 แผ่นที่ซ้อนทับกันอยู่และยึดกระเบื้องทั้งสองแผ่นเข้ากับแปในรูเดียวกัน ในกรณีที่เจาะยึดเพียงกระเบื้องแผ่นเดียวและเอาอีกแผ่นไปวางทับหัวน็อตไว้ จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างแผ่นกระเบื้องที่ซ้อนทับและกระเบื้องอีกแผ่นจะมีโอกาสที่จะขยับเลื่อนตกจากแปได้ท การขันน็อตยึดกระเบื้องใยหินแน่นเกินไปก็ไม่ดี เพราะแรงบีบของน็อตชุดดังกล่าวจะทำให้กระเบื้องแอ่นจนเกิดช่องว่างระหว่างแผ่นกระเบื้อง หรืออาจแน่นจนกระเบื้องแตกเป็นจุดที่ทำให้น้ำฝนสามารถรั่วเข้าไปใต้หลังคาได้ท อุปกรณ์ตัวยึดกระเบื้องใยหินต้องครบสมบูรณ์ เช่น ต้องมีฝาสังกะสีครอบรับหัวน็อต ต้องมีแหวนยางรองรับที่มีสภาพสมบูรณ์ไม่ฉีกขาด หรือเสื่อมสภาพ เพราะฝาสังกะสีครอบหัวน็อตและแหวนยางดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันน้ำฝนไหลเข้าไปใต้แผ่นกระเบื้องท ขนาดพื้นที่หลังคาไม่สัมพันธ์กับลักษณะลอน และความลาดชันของผืนหลังคา โดยมีข้อควรทำดังนี้หลังคาที่มีพื้นที่มากควรใช้กระเบื้องที่มีลอนใหญ่หากอยากได้ลอนเล็กต้องเพิ่มความลาดชันของหลังคาให้มากกว่าปกติมากๆ เพราะขนาดลอนกระเบื้องที่ใหญ่จะเป็นตัวเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำฝนที่ไหลมาเป็นปริมาณมากๆ ได้เหมือนกับรางน้ำที่มีขนาดใหญ่ย่อมสามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากกว่ารางน้ำขนาดเล็กซึ่งในแก้ปัญหาน้ำรั่วเข้าหลังคาในกรณีปัญหาเกิดจากการติดตั้งกระเบื้องใยหินดังกล่าวมาแล้วควรแก้ไขไปตามสาเหตุแห่งปัญหา แต่กรณีที่พื้นหลังคาไม่สัมพันธ์กับลักษณะลอนและความลาดชันของผืนหลังคาอาจจะต้องมีการแก้ไขใหญ่ ซึ่งอาจจะเลือกเปลี่ยนวัสดุมุง หรือปรับเปลี่ยนความลาดชันของผืนหลังคาก็แล้วแต่จะเลือกวิธีการ ซึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับงบประมาณ หรือ ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น6. ในกรณีที่บนหลังคามีรางระบายน้ำหรือตะเฆ่ราง ปัญหาการรั่วซึมอาจไม่ได้มาจากกระเบื้องมุงหลังคาแต่อาจเกิดจากรางระบายน้ำหรือตะเฆ่ราง ได้เช่นกัน ท ตะเข้รางมีความกว้างหรือความลึกไม่เพียงพอ ทำให้รางรับน้ำรองรับปริมาณของน้ำฝนที่ตกลงมาไม่ทันยิ่งผืนหลังคามีพื้นที่มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องมีรางรับน้ำที่กว้างและลึกมากขึ้นเป็นสัดส่วนกัน บางแห่งอาจจะแก้ไขปัญหาน้ำฝนไหลเข้ามาทางตะเฆ่รางนี้ ด้วยการพอกปูนปิดทับตะเฆ่รางนี้ด้วยหวังว่าจะทำให้น้ำฝนไม่ต้องไหลเข้าไปในรางรับน้ำดังกล่าวและไหลไปความลาดเอียงของแนวปูนที่พอกทับไว้นี้ ซึ่งก็ไม่ค่อยจะได้ผลเพราะปูนดังกล่าวก็มักจะแตกร้าวและเกิดช่องว่างให้น้ำฝนเข้าไปได้เนื่องจากปัญหาการยึดเกาะและการยืดหดตัวที่ไม่เท่ากันระหว่างเนื้อปูนกับผิวกระเบื้องและรางรับน้ำและได้ทำให้การแก้ไขปัญหาที่ตามมาเกิดความยุ่งยากมากขึ้นไปอีกหลายเท่าเลยทีเดียว ในกรณีเช่นนี้จึงควรเปลี่ยนรางรับน้ำในตะเฆ่รางให้มีขนาดที่สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้มากขึ้น ท กรณีที่หลังคามีรางรับน้ำโดยรอบชายคา ต้องหมั่นตรวจสอบดูด้วยว่ารางรับน้ำหรือท่อระบายน้ำของรางมีอะไรมาอุดตันหรือไม่ เพราะถ้าอุดตันจะทำให้น้ำล้นรางเข้าสู่อาคารได้สำหรับรางน้ำสังกะสี ควรทำฝาตะแกรงครอบกันใบไม้ไม่ให้ร่วงเข้าไปอุดตัน ส่วนรางรับน้ำ คสล.ตัวรับน้ำลงท่อน้ำฝนควรใช้ตัว ROOF DRAIN แทนที่จะใช้ FLOOR DRAIN (ที่เราเห็นตามพื้นห้องน้ำทั่วไป)เพราะ ROOF DRAIN มีอุปกรณ์ฝาครอบกันใบไม้อุดตันเป็นส่วนหนึ่งของ ROOF DRAIN แต่ถ้าหากว่าได้มีการติดตั้ง FLOOR DRAIN แทนที่จะติดตั้ง ROOF DRAIN แล้ว และการเปลี่ยนหัว DRAIN นั้นเป็นไปได้โดยยาก ก็อาจจะเลือกทำตะแกรงทรงกระบอกสูงครอบทับเหนือ FLOOR DRAIN ดังกล่าวและยึดติดกับบริเวณที่ติดตั้งให้แน่นหนา เพื่อป้องกันใบไม้อุดตันหัว DRAINและป้องกันน้ำพัดพาตะแกรงดังกล่าวหลุดไปจากบริเวณหัว DRAIN7. น้ำรั่วซึมเข้ามาเนื่องจากอาคารไม่มีปีกนก (FLASHING) ในส่วนที่หลังคาเข้ามาชนกับผนังอาคาร ปัญหาจากครอบสันหลังคา ครอบตะเฆ่สัน ครอบข้าง หรือปีกนก ซึ่งทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กแตกร้าวในช่วงสมัยหนึ่งของการก่อสร้าง ได้ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กในการทำส่วนต่างๆ ข้างต้น และต่อมาอาคารบางแห่งก็เกิดการแตกร้าวของส่วนต่างๆดังกล่าว ทั้งอาจจะเนื่องจากสภาพลมฟ้าอากาศและแสงแดด หรือฝีมือช่าง ก็แล้วแต่ ก็ทำให้น้ำรั่วเข้ามาใต้หลังคาได้ ซึ่งกรรมวิธีในการแก้ไขปัญหานี้ มีทั้งแบบง่ายๆคือ เอาวัสดุพวกแผ่นสังกะสีอย่างหนา แผ่น Metal Sheet หรือ แผ่นเหล็กสแตนเลสมาดัดเข้ารูปกับลักษณะครอบส่วนต่างๆ ติดปิดทับส่วนเดิม และยึดให้แน่นหนาอาจจะยึดด้วยการล็อคกันของกรรมวิธีการพับ หรือยึดด้วยหมุดหรือสกรูที่ด้านข้างของครอบเพราะถ้าไปเจาะรูยึดด้านบนของครอบ ก็อาจจะเป็นจุดที่ทำให้น้ำฝนไหลเข้าไปได้โดยง่ายอีกเช่นกัน ในส่วนของปีกนกที่ปิดทับแนวรอยต่อกระเบื้องหลังคากับผืนผนังนั้นคงต้องเซาะร่องที่ผืนผนังเพื่อฝังขอบแผ่นวัสดุที่เราใช้ ยึดแผ่นวัสดุใหัแน่นหนากับผนังและเก็บความเรียบร้อยรอยต่อผนังกับแผ่นวัสดุด้วยซิลิโคนเพื่อป้องกันน้ำเข้าอีกทางหนึ่ง8. กรณีการต่อเติมอาคาร ให้อาคารใหม่ชนกับอาคารเดิม ควรทำปีกนก (FLASHING)บริเวณรอยต่อระหว่างผืนหลังคากับผนังอาคารด้วย ห้ามใช้ปูนทรายพอกและควรเผื่อรายละเอียดสำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำรั่วเข้า เนื่องจากการทรุดตัวของอาคาร 2 ส่วนไม่เท่ากัน ซึ่งถ้าใช้วิธีพอกปูนทรายปิดรอยต่อดังกล่าว นอกจากจะเป็นการทำไม่ถูกวิธีแล้วก็จะทำให้ปูนทรายแตกร้าวเป็นจุดรั่วได้ ซึ่งการทำปีกนกนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้วต่อไปเมื่ออาคารใหม่เกิดการทรุดตัว และเกิดช่องว่างระหว่างกระเบื้องหลังคาและใต้ปีกนกมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาน้ำรั่วเข้าบริเวณดังกล่าวก็ง่ายขึ้นด้วย หรืออาจจะเลือกใช้รูปแบบปีกนกที่เป็นวัสดุพวกสังกะสีอย่างหนา Metal Sheet หรือ แผ่นเหล็กสแตนเลสซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้โดยง่ายเมื่ออาคารเกิดการทรุดตัว
กรณีปัญหาน้ำรั่วชึมเข้ามาใต้หลังคาเนื่องจากแรงลมที่ปะทะกับผืนหลังคาและก่อให้เกิดแรงดันอากาศภายนอกสูงกว่าแรงดันอากาศใต้ผืนหลังคานั้น เป็นปัญหาที่มักเกิดจากสภาพพื้นที่ และลักษณะอาคาร ซึ่งในการแก้ไขปัญหานี้นั้นนอกจากจะแก้ไขปัญหาตามสภาพที่เกิดขึ้นแล้ว อาจจะต้องเรียกสถาปนิกให้เข้าไปช่วยตรวจสอบเพื่อหาวิธีปรับแรงดันอากาศใต้ผืนหลังคาและแรงดันอากาศภายนอกให้ใกล้เคียงกันเพราะอาจจะต้องตรวจสอบในหลายปัจจัย ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม ลักษณะอาคาร รายละเอียดของอาคารเพื่อที่จะทำช่องเปิดในการปรับแรงดันได้ถูกจุด และไม่ก่อให้เกิดปัญหากลายเป็นจุดที่น้ำฝนจะสาดเข้าไปได้(และอย่าลืมจ่ายค่าบริการวิชาชีพแก่สถาปนิก…)

http://www.212cafe.com/freewebboard/view.php?user=winyou&id=40

No comments: