Tuesday, May 11, 2010

Drawdown Analysis

Drawdown Analysis โดย ผู้จัดการออนไลน์
[คอลัมน์] [27 มีนาคม 2551 09:56 น.] รวมข่าวและบทความให้อ่านเพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัย ได้ที่นี่ Boybdream Webdesign


คอลัมน์ คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย ดร.ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล นักวิเคราะห์การลงทุนอาวุโส บลจ.อยุธยา จำกัด


ในการตัดสินใจลงทุน สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือความเสี่ยงจากการลงทุน สำหรับการประเมินความเสี่ยงในการลงทุน คุณอาจจะประเมินโดยใช้สัญชาตญาณหรือความรู้สึก (intuitive evaluation) เช่น ลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงมากกว่าลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพราะลงทุนในหุ้นมีโอกาสที่จะขาดทุน แต่ถ้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยตรงแล้วถือจนครบอายุ คุณจะไม่มีโอกาสขาดทุนทางบัญชี เพราะคุณจะได้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยจากรัฐบาล (เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลไม่มีเงินจ่าย) อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง การถือพันธบัตรรัฐบาลอาจทำให้คุณขาดทุนทางมูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) ได้ถ้าหากว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่คุณถือพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่คุณได้ นอกจากการประเมินความเสี่ยงโดยใช้สัญชาตญาณแล้ว คุณอาจประเมินความเสี่ยงโดยใช้วิธีทางสถิติ (statistical evaluation) ซึ่งสามารถให้ค่าความเสี่ยงออกมาเป็นตัวเลขได้

ในวันนี้ผมขออธิบายวิธีการวิเคราะห์ความเสี่ยง และผลตอบแทนการลงทุนที่เข้าใจง่าย และกองทุนหลายกองทุนในต่างประเทศเริ่มนำเสนอตัวเลขความเสี่ยง และผลตอบแทนที่วิเคราะห์โดยวิธีนี้กันมากขึ้น วิธีที่ว่านี้เป็นวิธีที่เรียกว่า drawdown analysis

Drawdown analysis คือ การวิเคราะห์การปรับตัวขึ้นลงของผลตอบแทนในอดีต วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการดูจากกราฟแสดงความเปลี่ยนแปลงของราคา ซึ่งสามารถบอกถึงความเสี่ยง และโอกาสในการได้ผลตอบแทนได้หลายๆประการ ซึ่งได้แก่

1.Maximum Drawdown หรือ maximum loss หรือ การขาดทุนสะสมสูงสุด ซึ่งเป็นการดูว่าในอดีตที่ผ่านมา ช่วงที่ผลตอบแทนปรับตัวเป็นขาลงในแต่ละช่วง ช่วงใดที่ผลตอบแทนจากจุดสูงสุด (ก่อนที่ผลตอบแทนจะปรับตัวเป็นขาลง) จนถึงจุดต่ำสุดของช่วงนั้น ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด ตัวอย่างเช่น สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ช่วงที่ดัชนีปรับตัวลดลงจนเกิดการขาดทุนสะสมมากที่สุดก็คือตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 1,415.04 จุด (ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2539) จนกระทั่งดัชนีปรับตัวลงมาต่ำสุดของช่วงนั้นที่ 207.31 จุด ในปี 2541 (วันที่ 4 กันยายน 2541) ซึ่งการวิเคราะห์ในจุดนี้สามารถบอกได้ว่า ในอดีตที่ผ่านมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเป็นขาลงยาวนานเท่าใด และส่งผลให้เกิดการขาดทุนเป็นจำนวนเท่าใด หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดทุนสูงสุดคือเท่าไร และใช้เวลาในยาวนานแค่ไหนที่จะก่อให้เกิดการขาดทุนสะสม ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ คุณจะขาดทุนสูงสุด 85.35% โดยใช้เวลาประมาณ 30 เดือน

2.ระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัวจากการขาดทุนสะสม ก็คือช่วงเวลาที่ใช้ในการคืนทุนจากการขาดทุนสะสมสูงสุด ตัวอย่างเช่น หากคุณลงทุนในวันสุดท้ายก่อนที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะปรับตัวเป็นขาลง (วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2539) แล้วถือหลักทรัพย์ที่คุณลงทุนมาตลอดโดยไม่ได้ทำการซื้อหรือขายแต่อย่างใด ณ ปัจจุบันนี้ คุณยังไม่ได้ทุนคืน ซึ่งคิดเป็นเวลายาวนานกว่า 132 เดือนแล้ว

3.Maximum Gain หรือช่วงเวลาที่ผลตอบแทนปรับตัวเป็นขาขึ้น และสร้างผลตอบแทนในช่วงนั้นได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอื่นๆในอดีต ตัวอย่างเช่น ในช่วงตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2529 ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2530 ซึ่งเป็นช่วงที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 127.26 จุด ไปถึงจุดสูงสุดที่ 472.86 จุด ก่อนที่ดัชนีจะปรับตัวลง หรือให้ผลตอบแทนสูงถึง 371.57% ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า ในอดีตที่ผ่านมา โอกาสที่คุณจะได้ผลตอบแทนสูงสุดจากการลงทุนที่ลงทุนเลียนแบบดัชนีตลาดหลักทรัพย์คือ 371.57% โดยใช้ช่วงระยะเวลาในการลงทุนประมาณ 15 เดือน

นอกจาก drawdown analysis จะบ่งบอกถึงการขาดทุนหรือกำไรสะสมแล้ว คุณยังสามารถวิเคราะห์แยกผลตอบแทนเป็นช่วงๆได้อีกด้วย เช่น จำนวนเดือนที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก และจำนวนเดือนที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบ หรืออาจจะวิเคราะห์ maximum drawdown และ maximum gain ในแต่ละปี เป็นต้น ซึ่งการวิเคราะห์แบบ drawdown ไม่ได้มีหลักตายตัวว่าจะต้องวิเคราะห์แบบใด

จะเห็นได้ว่า การวิเคราะห์ drawdown ไม่ต้องใช้การคำนวณที่สลับซับซ้อนแต่อย่างใด อาศัยเพียงแค่การดูกราฟ และข้อมูลดิบมาร่วมในการวิเคราะห์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ท่านนักลงทุนควรคำนึงอยู่เสมอว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่ใช่สิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคต ดังนั้น การวิเคราะห์ drawdown จึงเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ประกอบในการวิเคราะห์ความเสี่ยง และผลตอบแทนของการลงทุนเท่านั้น ท่านนักลงทุนควรวิเคราะห์ความเสี่ยงในแง่มุมอื่นประกอบการลงทุนด้วย

สัปดาห์หน้า ผมจะนำเสนอแนวทางการใช้ drawdown analysis เพื่อดูความเสี่ยง และความสามารถในการบริหารกองทุน เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยในการตัดสินใจเลือกกองทุนครับ

การลงทุนมีความเสี่ยง ท่านนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

No comments: