Friday, January 15, 2010

ปัญหาภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับค่าบริการ

วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ปัญหาภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับค่าบริการ

ขอนำประเด็นปัญหาภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร มาปุจฉา - วิสัชนา เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานทางด้านภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา บริษัท ก. จำกัด ประกอบกิจการให้บริการชิปปิ้ง จัดเก็บสินค้า และขนส่ง โดยมีรายได้ดังนี้ บริษัทฯ มีภาระภาษีต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร

1. รายได้จากค่าบริการชิปปิ้งรวมทั้งค่าบริการขนส่ง โดยให้บริการด้านขนส่งสินค้าอย่างเดียว และจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่งจากกรมการขนส่งทางบก และการให้บริการชิปปิ้ง โดยเป็นตัวแทนออกของแทนลูกค้า เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันในการให้บริการแก่ลูกค้า จึงมีการบริการขนส่งเกี่ยวเนื่องกับชิปปิ้งด้วย ทั้งนี้ บริษัทฯ จะเป็นผู้ดำเนินการเองหรืออาจจ้างบริษัทอื่นดำเนินการแทน บริษัทฯ ได้แยกค่าขนส่งและค่าชิปปิ้งออกจากกัน แต่ได้นำเฉพาะค่าชิปปิ้งไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. ค่าบริการจัดเก็บสินค้าและค่าบริการขนส่งแบ่งเป็น

(1) การให้บริการขนส่งสินค้าให้ลูกค้า โดยไปรับของที่คลังสินค้าของลูกค้าและส่งของตามสถานที่ที่ลูกค้ากำหนด

(2) การให้บริการจัดเก็บสินค้าของลูกค้าที่คลังสินค้าของบริษัทฯ เมื่อลูกค้าขายสินค้าได้ ลูกค้าจะแจ้งให้บริษัทฯ ส่งสินค้าตามที่อยู่ของใบส่งสินค้า บริษัทฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างการจัดเก็บสินค้าแยกต่าง หากจากสัญญาการขนส่ง ค่าบริการจัดเก็บสินค้าของบริษัทฯ เป็นจำนวนเงินน้อยกว่าค่าบริการขนส่งสินค้าประมาณ 5 เท่า ธุรกิจหลักของบริษัทฯ เป็นการประกอบกิจการการขนส่งมากกว่าการประกอบกิจการคลังสินค้า

วิสัชนา กรมสรรพากรได้มีแนววินิจฉัยตามหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/6946 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2549 ดังนี้

1. กรณีประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว และการให้บริการขนสินค้าภายในบริเวณคลังสินค้าของลูกค้า โดยนำสินค้าจากคลังสินค้าของลูกค้าไปส่งตามสถานที่ที่ลูกค้ากำหนด ถือเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ณ) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528

2. กรณีประกอบกิจการให้บริการชิปปิ้งโดยเป็นตัวแทนออกของแทนลูกค้า และมีการให้บริการขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าด้วย ไม่ว่าจะแยกค่าขนส่งออกจากค่าบริการชิปปิ้งหรือไม่ก็ตามถือเป็นการให้บริการชิปปิ้งทั้งจำนวน บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการชิปปิ้งและค่าบริการขนส่งรวมกันตามข้อ 3/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528

3. กรณีประกอบกิจการให้บริการจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าของบริษัทฯ และบริการขนส่งสินค้าของลูกค้าที่อยู่ในคลังสินค้าตามสถานที่ที่ลูกค้ากำหนด ไม่ว่าจะแยกค่าขนส่งออกจากค่าบริการจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นการให้บริการจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าทั้งจำนวน บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการจัดเก็บสินค้าในคลังสินค้าและค่าบริการขนส่งรวมกัน ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528

ปุจฉา กรณีบริษัทฯ จำกัด ประกอบกิจการเป็นตัวแทนจัดการรับขนถ่ายสินค้าและบริการขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าภายในประเทศ โดยบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง ด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลูกค้า โดยให้บริการเก็บสินค้าในคลังสินค้า (รับฝากสินค้า) พร้อมกับให้บริการขนส่งระหว่างโรงงานของลูกค้าและคลังสินค้าของบริษัทฯ และให้บริการขนส่งสินค้าจากโรงงานของลูกค้าไปยังผู้ซื้อโดยไม่ผ่านคลังสินค้าของบริษัทฯ ซึ่งเรียกว่า "การส่งตรง" การปฏิบัติทางภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายดังต่อไปนี้ของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่

การให้บริการดังกล่าว โดยเฉลี่ยแล้วบริษัทฯ จะออกใบแจ้งหนี้ค่าบริการขนส่งเดือนละประมาณ 20 -25 ล้านบาท และค่าบริการคลังสินค้าเดือนละประมาณ 4 ล้านบาท บริษัทฯ ออกใบแจ้งหนี้ค่าบริการคลังสินค้าและค่าบริการขนส่งแยกต่างหากจากกัน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการคลังสินค้า โดยถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของรายได้ ส่วนค่าบริการขนส่งสินค้าในราชอาณาจักรซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ของรายได้

วิสัชนา กรณีบริษัทฯ สามารถแยกค่าขนส่งสินค้าที่กระทำเป็นปกติธุระ และราคาค่าบริการเก็บรักษาสินค้าออกจากกันได้ การให้บริการขนส่งดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการให้บริการเก็บรักษาสินค้า เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการดังกล่าวตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของบริษัทฯ จึงถูกต้องแล้ว

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ



copyright © NKT NEWS CO.,LTD.All Right Reserved.
Contact us :ktwebeditor@nationgroup.com

Link: http://www.bangkokbiznews.com/2008/12/10/news_27810121.php?news_id=27810121

No comments: