Thursday, September 23, 2010

ปันผลคือพื้นฐานหุ้น

ปันผลคือพื้นฐานหุ้น

โลกในมุมมองของ Value Investor 11 กันยายน 53

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

หลักการหรือหัวใจของ Value Investment หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่าก็คือ การหามูลค่าที่ควรจะเป็นหรือมูลค่า “พื้นฐาน” ของหุ้น จากนั้นก็ดูว่าราคาหุ้นในตลาดเป็นเท่าไร ถ้าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่คำนวณได้ก็ให้ซื้อ ถ้าราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานก็ให้ขาย เพราะนักลงทุนแบบ VI เชื่อว่าในที่สุดราคาหุ้นจะวิ่งเข้าหามูลค่าพื้นฐานเสมอ

คำถามสำคัญมีอยู่ 2 ข้อ นั่นคือ หนึ่ง มูลค่าพื้นฐานคืออะไร? มาจากไหน? อะไรเป็นตัวกำหนดมูลค่าพื้นฐานของหุ้น พูดง่าย ๆ คำนวณมูลค่าพื้นฐานอย่างไร? ข้อสอง เมื่อไรเล่าที่ราคาจะวิ่งเข้าหาพื้นฐาน? เป็นไปได้ไหมที่ราคาหุ้นอาจจะไม่สะท้อนพื้นฐานเป็นระยะเวลานานมาก เผลอ ๆ ตลอดไป กลายเป็นหุ้นที่อาจจะ “ถูกตลอดกาล” และถ้าเป็นอย่างนั้น VI จะได้อะไร?

คำตอบทั้งสองข้อนั้นเกี่ยวเนื่องกันนั่นคือ คำตอบของข้อแรกก็จะตอบคำถามของข้อสองได้ คำถามที่ว่ามูลค่าพื้นฐานคืออะไรนั้น ถ้าจะตอบก็คือ เป็นมูลค่าปัจจุบันของหุ้นที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้จากบริษัทตลอดไป และผลตอบแทนที่ว่านั้นก็คือ “ปันผล” ในอนาคตทั้งหมดของบริษัท

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพที่เข้าใจได้ง่ายไม่เป็นวิชาการก็คือ “เป็นราคาหุ้นที่เรายินดีที่จะจ่ายเงินซื้อเพื่อเก็บกินปันผลไปตลอดชีวิต โดยที่เราจะไม่ขายหรือเป็นหุ้นที่เราไม่สามารถขายได้” ดังนั้น เวลาที่ผมจะซื้อหุ้น ผมจะต้องคิดว่าราคาที่ผมจ่ายนั้น ผมยินดีหรือไม่ที่จะเก็บมันไว้ตลอดชีวิตเพื่อรับปันผล ถ้าคำตอบคือ “ไม่เอา” นั่นก็แปลว่าราคานั้นสูงเกินไป อาจจะเป็นเพราะผมไม่แน่ใจว่าปันผลจะลดลง หรืออาจจะเป็นเพราะว่าผมกลัวว่าอนาคตบริษัทอาจจะเจ๊งหรือธุรกิจตกต่ำลงมากและจ่ายปันผลน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งผมจะ “ไม่มีทางออก” แต่ถ้าคำตอบของผมก็คือ “เอา” นั่นก็แปลว่าผมมั่นใจในตัวบริษัทว่าจะยังดีต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ปันผลในอนาคตนั้นมีโอกาสสูงที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ความเสี่ยงที่ธุรกิจจะตกต่ำลงมีน้อยมาก ดังนั้น ผมยินดีซื้อและถือหุ้นตัวนั้นตลอดชีวิต

แน่นอน ในชีวิตจริง เราไม่จำเป็นที่จะต้องถือหุ้นตลอดชีวิตเพื่อเก็บกินปันผล แต่เวลาพิจารณาซื้อหุ้นโดยอิงกับ “มูลค่าพื้นฐาน” ของหุ้น เราจะต้องคิดว่าเราจะต้องเก็บหุ้นไว้ตลอดชีวิตจริง ๆ ถ้าเราคิดว่าเราสามารถขายได้ทุกนาที หรือเราสามารถขายได้ถ้า “สถานการณ์เปลี่ยน” หรือแม้แต่เราจะขายเมื่อ “บริษัทโตเต็มที่แล้ว” ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นใน 3-4 ปีข้างหน้า แบบนี้แสดงว่าเรายังไม่ได้ซื้อหุ้นโดยอิงกับมูลค่าพื้นฐานจริง ๆ เราอาจจะ “เก็งกำไร” โดยอาจจะอิงกับปัจจัยพื้นฐานบางส่วนเท่านั้น

นอกจากเรื่องของปันผลในอนาคตแล้ว ปัจจัยที่สำคัญอีกตัวหนึ่งในการคำนวณหามูลค่าพื้นฐานของหุ้นก็คือ “อัตราคิดลด” ซึ่งก็คืออัตราผลตอบแทนที่เราต้องการในการลงทุนซื้อหุ้นตัวนั้น อัตราผลตอบแทนนี้จะคล้าย ๆ กับอัตราดอกเบี้ยที่เราได้ถ้าเราเอาเงินไปฝากธนาคารหรือลงทุนซื้อพันธบัตรซึ่งเราจะได้ผลตอบแทนที่แน่นอนเช่นปีละ 1% หรือ 3-4% ตามลำดับ แต่การลงทุนในหุ้นนั้นเราจะได้ปันผลที่มีอัตราไม่แน่นอนขึ้นกับผลกำไรของบริษัท ดังนั้นเราจึงต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าโดยเฉลี่ยเช่นอาจจะได้ผลตอบแทนประมาณปีละ 10%

ปัจจัยสำคัญตัวสุดท้ายที่สำคัญมากก็คือ อัตราการเติบโตหรือการเพิ่มขึ้นของเงินปันผลในอนาคต นี่คือสิ่งที่จะทำให้มูลค่าหุ้นสูงหรือต่ำอย่างมีนัยสำคัญ เพราะถ้าปันผลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะได้ผลตอบแทนมากขึ้นทุกปีหรือเกือบทุกปี ยิ่งนานปันผลก็ยิ่งเพิ่มขึ้น บางทีผ่านไป 15-20 ปี เงินปันผลแต่ละปีอาจจะเพิ่มขึ้นเท่ากับเงินค่าหุ้นที่เราจ่าย ถ้าเป็นแบบนี้มูลค่าของหุ้นก็จะมาก แต่ถ้าปันผลไม่โตเลย เคยได้เท่าไร ผ่านไป 5-10 ปีก็ยังได้ปันผลเท่าเดิม แบบนี้หุ้นก็จะมีมูลค่าน้อย

ผมคงไม่อธิบายวิธีคำนวณหามูลค่าพื้นฐานตามวิชาการซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเกินไป แต่จะลองให้แนวคิดในการพิจารณาลงทุนซื้อหุ้นโดยใช้หลักการของ “มูลค่าพื้นฐาน” ดังที่ได้กล่าวมา โดยสมมุติว่าเราพบหุ้นตัวหนึ่งที่ทำธุรกิจโมเดิร์นเทรดหรือค้าปลีกสมัยใหม่ซึ่งผมเห็นว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีผลประกอบการที่สม่ำเสมอและคาดการณ์ผลประกอบการไม่ยากนัก

บริษัท ก. มีกำไรปีละ 0.40 บาทต่อหุ้น จ่ายปันผลปีละ 0.30 บาท ราคาหุ้นเท่ากับ 10 บาทต่อหุ้น เราคาดว่ากิจการของบริษัทนี้จะเติบโตขึ้นประมาณปีละ 10% ไปได้เรื่อย ๆ โดยที่บริษัทไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนเพราะฐานะทางการเงินดีมากไม่มีหนี้สินจากสถาบันการเงินเลย ถามว่ามองโดยพื้นฐานเราควรซื้อหุ้นบริษัทนี้หรือไม่

ก่อนอื่นลองคำนวณดูว่าในปีแรกที่เราลงทุนนั้น เราจ่ายเงินค่าหุ้น 10 บาทและได้ปันผล 0.30 บาทเท่ากับว่าเราได้ปันผลปีแรก 3% ดูแล้วก็อาจจะไม่น่าจูงใจอะไร เพราะเราลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลซึ่งไม่มีความเสี่ยงเลยเรายังได้ดอกเบี้ยประมาณ 4% แต่เนื่องจากกำไรของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นได้ปีละ 10% ซึ่งน่าจะทำให้บริษัทสามารถจ่ายปันผลได้เพิ่มขึ้นปีละ 10% เช่นกัน ดังนั้น ปีที่สองปันผลน่าจะเป็น 3.3% และปีที่สามน่าจะเป็น 3.63% ปีที่สี่เท่ากับประมาณ 3.99 หรือ 4% ซึ่งเท่ากับพันธบัตรแล้ว หลังจากนั้นอัตราก็จะสูงกว่าไปเรื่อย ๆ พอถึงปีที่ 10 ปันผลก็เท่ากับ 8.56% และเมื่อถึงปีที่ 37 ซึ่งอาจจะเป็นปีที่เราเกษียณ ปันผลที่ได้ในแต่ละปีอาจจะเป็น 10 บาทเท่ากับราคาหุ้นในวันนี้และทำให้เราเกษียณอย่างมีความสุข เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ตั้งแต่ปีที่ 4 ของการถือหุ้น เราก็ได้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนในตราสารการเงินอื่น ๆ แล้ว ดังนั้น เราจึงคิดว่า ราคาหุ้น ก. ที่ 10 บาท เป็นราคาหุ้นที่เหมาะสมกับพื้นฐานในแง่ของเราและเรายินดีที่จะซื้อมัน

คำถามต่อมาก็คือ ถ้าราคาหุ้น ก. ที่ 10 บาทซึ่งเราคิดว่าถูก แต่ถ้าถือแล้วมันไม่ขึ้นทั้งที่กำไรและปันผลของบริษัทก็ดีขึ้นตามที่คาดแต่ราคาหุ้นกลับไม่ขึ้นซักทีเป็นเวลาหลายปี แบบนี้เราควรจะขายทิ้งไหม? คำตอบก็คือ ไม่จำเป็น จำไว้ว่าถ้าเรา “ลงทุนตามพื้นฐาน” และมั่นใจว่าสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้ถูกต้อง เราก็ถือมันไป ผลตอบแทนของเรานั้น เราต้องคิดว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยนักลงทุนคนอื่นในการมาซื้อหุ้นต่อจากเราในราคาที่สูงขึ้น แต่มันมาจากปันผลที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของบริษัท แต่เชื่อผมเถอะครับว่า ในที่สุดแล้ว คนจะต้องเห็นว่าบริษัทดีและเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น ผมเองเคยถือหุ้นมา 3-4 ปีโดยที่ราคาไม่ไปไหน แต่พอมันวิ่ง มันก็ขึ้น “ชดเชย” ช่วงเวลาที่มันนิ่งในเวลาอันรวดเร็ว ประเด็นสำคัญก็คือ VI ต้อง “รอเป็น” ว่าที่จริง การที่หุ้นไม่ขึ้นเลยทั้ง ๆ ที่บริษัทดีขึ้นหรือจ่ายปันผลมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น กลับเป็นโอกาสที่เราจะซื้อหุ้นเพิ่มและทำกำไรมากขึ้น