Saturday, August 15, 2009

ชี้ช่องประหยัดเงิน (ภาษี) ภ.ง.ด.50 โดยอาจารย์ อมรศักดิ์ พงศ์พศุตม์

ชี้ช่องประหยัดเงิน (ภาษี) ภ.ง.ด.50 โดยอาจารย์ อมรศักดิ์ พงศ์พศุตม์

ได้อ่านหนังสือ : Tax & Business Magazine ซึ่งเขียนโดย อาจารย์ อมรศักดิ์ พงศ์พศุตม์ ซึ่งเห็นว่ามีประโยชน์จึงได้นำมาฝากทุกท่านเกี่ยวกับภาษีอากร
ท่านผู้พิพากษา Learned Hand แห่งศาลอุทธรณ์ของสหรัฐอเมริกา (United States Court of Appeals) ได้กล่าวไว้ในฎีกาภาษีของอเมริกาว่า “Any one may so arrange his affairs that his taxes shall be as low as possible; he is not bound to chose the pattern which will best pay the Treasury…”
ซึ่งถอดความได้ว่า “ปวงประชาผู้เสียภาษีทุกผู้ทุกนาม ย่อมมีสิทธิ์เลือกวิธียื่นแบบชำระภาษีต่ำที่สุดที่ตนพึงต้องชำระได้ โดยไม่จำต้องเลือกเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีสูงสุดแด่ท้องพระคลังแต่อย่างใด…”
วลีอมตะดังกล่าวสะท้อนปรัชญาของการวางแผนภาษีว่าเป็นสิทธิ และความชอบธรรมของผู้เสียภาษี ทั้งหลายในโลกนี้ที่พึงเลือก หรือเสาะหากลยุทธ์ภาษีใดๆ ให้ตนประหยัดได้
ข้อเขียนในวันนี้จะชี้ช่อง/ชี้แนะถึงกลยุทธ์/เทคนิค/วิธีการต่างๆ แด่ท่านผู้อ่านตามสมควร เพื่อช่วยผ่อนร้อน (รุ่มจากการต้องควักจ่ายเงินภาษีก้อนโต) ผ่อนเครียดและผ่อนคลายจากบรรยากาศที่อึมครึมต่อเนื่องมายาวนาน
เสียเวลาหยุดอ่านซักนิด! เพื่อพิชิตสรรพากรอย่างถูกกฎหมาย และชอบด้วยคุณธรรม ดังนี้ครับ
ช่องทาง 1 การจัดพอร์ตธุรกิจ
ซึ่งก็เป็นกลยุทธ์ประมาณทำนองเดียวกันกับการจัดพอร์ตหุ้นนั่นแหละ คือ จะเลือกให้หน่วยภาษีใดเป็นผู้แบกรับโครงการ (ภาระภาษี)
ตัวอย่างเช่น บริษัท สี่สหายการโยธา จำกัด ร่วมกับ บริษัท กูมาไก กูมาประมูลโครงการ จำกัด (ญี่ปุ่น) เข้าร่วมประมูลโครงการติดตั้งระบบตรวจจับวัตถุระเบิด ณ สนามบินหนองงูเหลือม เพื่อเสียบแทนบริษัท อินวิชั่น จำกัด (ซึ่งโดนน็อค (ยกเลิกสัญญา)) เนื่องจากโอษฐภัย !
ในการนี้ บริษัททั้ง 2 ราย มี 2 ทางเลือกในการจัดหน่วยภาษี คือ (1) เป็นรูปกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือ (2) เป็นรูปแบ่งงานแบ่งเงิน (ค่าจ้าง) (Consortium)
การตั้งเป็นกิจการร่วมค้า จะต้องเข้าเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด คือ ระบุในสัญญาจ้างว่าเป็นกิจการร่วมค้า หรือเข้าร่วมทำโครงการด้วยกัน โดยไม่แบ่งแยกงานหรือแบ่งแยกเงิน เป็นต้น ซึ่งในกรณีดังกล่าว จะถือว่ากิจการร่วมค้า เป็นหน่วยภาษีใหม่ต่างหากจากบริษัทผู้ร่วมค้าเดิม
สำหรับกรณีของ Consortium นั้น ไม่มีหน่วยภาษีใหม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด จึงต้องแบ่งรายได้รายจ่ายของโครงการตามสัดส่วน เพื่อให้ผู้ร่วมค้าแต่ละรายนำไปรวมเสียภาษีกับธุรกิจปกติของตน
ทั้ง 2 ทางเลือก มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้บริหาร โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ผลประกอบการของโครงการ (กำไรหรือขาดทุน) ผู้ร่วมค้าแต่ละรายมีขาดทุนสะสมมากน้อยเพียงใด เป็นต้น
ช่องทาง 2 การใช้สิทธิประโยชน์ด้านอัตราภาษี
กระทรวงการคลังในสมัย ‘ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ ต่อเนื่องมาถึง ‘ดร.ทนง พิทยะ’ ได้ออกมาตรการภาษีหลายประการ เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชน อาทิเช่น
(1) ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20% ของกำไรสุทธิ สำหรับกรณีที่บริษัทนำหลักทรัพย์มา จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (Market Alternative Investment (MAI)) (พรฎ.#387 (พ.ศ.2544) แก้ไขโดย #421 (พ.ศ.2547))
(2) ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนที่ชำระแล้วในวัน สุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยจัดเก็บในอัตรา
• 15% ของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท
• 25% ของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท (พรฎ.#431 (พ.ศ.2548))
ช่องทาง 3 ใช้สิทธิประโยชน์ในการหักรายจ่ายเพิ่มขึ้น
ประมวลรัษฎากรฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติให้กิจการสามารถหักรายจ่ายบางประเภทเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการใช้นโยบายการคลัง (ภาษีอากร) มาสนับสนุน/กระตุ้นกิจกรรมบางอย่างของภาคเอกชน อาทิเช่น
(1) การให้สิทธิประโยชน์ในการหักรายจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า อาทิ
• ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้าง (พรฎ.#437) มีสิทธิหักรายจ่ายได้ 2 เท่า ของค่าใช้จ่าย เพื่อการดังกล่าว
– กรณีส่งพนักงานไปศึกษาต่อปริญญาโท หรือประกาศนียบัตร ตามมหาวิทยาลัยของรัฐและ เอกชนในราชอาณาจักร เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ ทักษะ หรือฝีมือของลูกจ้างให้สูงขึ้น
– กรณีส่งพนักงานเข้าอบรมสัมมนาเป็นการทั่วไป (Public Training) ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาชีพใด เช่น ภาษีอากร การบัญชี การตลาด การบริหารบุคคล เป็นต้น
– บริษัทจัดหลักสูตรขึ้นเอง เพื่ออบรมและพัฒนาฝีมือลูกจ้างของตน โดยได้รับการรับรองหลักสูตรจากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
• ค่าจ้างเพื่อทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี (พรฎ.#297) มีสิทธิหักรายจ่ายได้ 2 เท่า ของค่าใช้จ่าย ที่จ่ายไปเพื่อการดังกล่าวให้แก่หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน ตามที่รัฐมนตรีประกาศ (ประกาศกระทรวงการคลัง #4) ทั้งนี้ ต้องเป็นการวิจัยอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีในการผลิต เป็นต้น (ป.103/2544)
• ค่าใช้จ่ายสนับสนุนการศึกษา (พรฎ.#420) มีสิทธิหักรายจ่ายได้ 2 เท่า ของค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อการดังกล่าว ทั้งนี้ เฉพาะการบริจาคให้แก่สถานศึกษาตามรายชื่อที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนดเท่านั้น แต่ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักค่าบริจาคการกุศล มาตรา 65 ตรี (3)
• ค่าใช้จ่ายสนับสนุนด้านสันทนาการ เพื่อจัดสร้าง และบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สนามกีฬา (พรฎ.#428)มีสิทธิหักรายจ่ายได้ 2 เท่า ของค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อการดังกล่าว ให้ทางราชการ หรือ เอกชนที่เปิดให้บริการเป็นการทั่วไป โดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ แต่เมื่อรวมกับค่าบริจาคสนับสนุนการศึกษาตาม (3) จะต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักค่าบริจาคการกุศล มาตรา 65 ตรี (3)
(2) การให้สิทธิประโยชน์ในการหักรายจ่ายเพิ่มขึ้นในอัตราพิเศษ อาทิ
• การให้สิทธิหักรายจ่ายเพิ่มขึ้น 25% ของมูลค่าอุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่เปลี่ยนแทน (replacement) อุปกรณ์เดิม (พรฎ.#436 (พ.ศ.2548))
เท่าที่สังเกตพบว่า บริษัทต่างๆ หลายแห่ง (โดยเฉพาะ SMEs) มักไม่ทราบถึงสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ทำให้ต้องจ่าย (ภาษี) แพงโดยใช่เหตุ
ช่องทาง 4 ใบสำคัญจ่ายต้องครบถ้วนสมบูรณ์
แง่มุมการพิจารณายอมรับรายจ่ายของผู้สอบบัญชี อาจแตกต่างจากเจ้าพนักงานสรรพากร ซึ่งต้องยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ตัวอย่างเช่น ผู้สอบบัญชีอาจยอมรับให้บริษัทสามารถหักรายจ่ายต่างๆ โดยไม่จำต้องมีเอกสาร หลักฐานมาพิสูจน์การจ่าย เช่น ค่าแท็กซี่ ค่าซื้อสินค้าโดยไม่มีบิล เป็นต้น แต่ในแง่ของกรมสรรพากร กรณีดังกล่าวอาจถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18) (รายจ่ายที่พิสูจน์ผู้รับไม่ได้) ซึ่งกรณีดังกล่าว กรมสรรพากรอนุโลมให้บริษัทฯ จัดทำใบสำคัญขึ้นมาสำแดงประกอบการจ่ายได้ เช่น
- ให้ทำใบสำคัญจ่ายขึ้นมา แล้วให้ผู้ขาย/ผู้ให้บริการลงลายมือชื่อรับเงิน พร้อมถ่ายสำเนาบัตรประชาชนไว้เป็นหลักฐาน
- ให้จ่ายเป็นเช็คขีดคร่อม ลงชื่อผู้ขาย/ผู้ให้บริการ
- ให้จ่ายโดยโอนผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการจ่ายจริง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวให้ปฏิบัติ แต่ก็ใช่จะแก้ปัญหาได้หมด โดยเฉพาะในหมู่ของ SMEs มักหลีกเลี่ยงโดยขอรับชำระเป็นเงินสด โดยไม่ยอมให้มีหลักฐานใดๆ ซึ่งกรณีดังกล่าว บริษัทอาจจำเป็นต้องยอมจ่ายแพงโดยซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการที่ยอมเปิดบิล ซึ่งมองเผินๆ เสมือนว่ามีรายจ่ายสูงขึ้น แต่ถ้าพิจารณาความเสี่ยงทางภาษีก็จะรู้ว่าคุ้มค่า เพราะการถูกตัดเป็นรายจ่ายต้องห้าม จะทำให้กำไรสุทธิทางภาษีสูงขึ้นเท่ากัน ทำให้ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมกว่าที่ควรจะเป็น
ช่องทาง 5 การใช้สิทธิหักค่าเสื่อมโดยวิธีพิเศษ (Initial Methods)
สืบเนื่องจากการต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง (ปี 2540) เป็นต้นมา รัฐบาลได้ใช้มาตรการการคลังออกพระราชกฤษฎีกาหลายฉบับ ยอมให้ภาคธุรกิจสามารถเลือกหักค่าเสื่อมราคาโดยวิธีพิเศษ (Initial Methods) ในหลายกรณี อาทิ
(1) เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ให้มีสิทธิหักค่าเสื่อมราคาในวันแรก ที่ได้มาซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าว ในอัตรา 40% ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนที่เหลือ (อีก 60%) ให้หักค่าเสื่อมราคาตามปกติ(พรฎ.#319 พ.ศ.2541)
ตัวอย่างเช่น บริษัท ไทยช่วยไทย จำกัด ซื้อเครื่องจักรเพื่อ R&D มูลค่า 100 ล้านบาท เมื่อ 1 มกราคม 2548 ก็สามารถเลือกวิธี Initial Method โดยมีสิทธิหักรายจ่ายทันที ณ วันซื้อ 40% = 40 ล้านบาท สำหรับมูลค่า ที่เหลืออีก 60 ล้านบาท ถ้าเลือกหักค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรง 5 ปี (ปีละ 20%) ก็จะหักค่าเสื่อมแต่ละปีได้ = 20% x 60 = 12 ล้านบาท ดังนั้น ในปี 2548 จึงมีสิทธิหักค่าเสื่อมราคาได้ทั้งสิ้น = 40 + 12 = 52 ล้านบาท
(2) เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อใช้ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อที่เป็นตามหลักเกณฑ์ประกาศอธิบดี เกี่ยวกับภาษีเงินได้#51 มีสิทธิเลือกหักค่าเสื่อมราคาวิธีพิเศษได้ถึง 2 แบบ คือ หักเป็นรายจ่ายทันที 100% หรือหักแบบ Initial Method ในวันแรกได้ 40% ของมูลค่าต้นทุน (พรฎ.#264 พ.ศ.2536)
(3) คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มีสิทธิเลือกหักค่าเสื่อมวิธีพิเศษ โดยหักได้ภายใน 3 ปี (ทรัพย์สินประเภทอื่นจะหักเร็วกว่า 5 ปีไม่ได้) และถ้าเป็นบริษัท SMEs (คือ มีสินทรัพย์ถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน) ก็มีสิทธิเลือกหักค่าเสื่อมวิธี Initial Method ในวันแรกได้อีก 40% ของมูลค่าต้นทุน (พรฎ.#395พ.ศ.2545)
(4) อาคารโรงงานของกิจการ SMEs (สินทรัพย์ถาวร(ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 200 ล้านบาท การจ้างงาน ไม่เกิน 200 คน) ก็มีสิทธิเลือกหักค่าเสื่อมราคาในวันแรกได้ 25% ของมูลค่าต้นทุน(พรฎ.#395)
(5) เครื่องจักรอุปกรณ์ของกิจการ SMEs (สินทรัพย์ถาวร(ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 200 ล้านบาท การจ้างงานไม่เกิน 200คน) ก็มีสิทธิเลือกหักค่าเสื่อมราคาในวันแรกได้ 40%ของมูลค่าต้นทุน (พรฎ.#395)
การหักค่าเสื่อมมากในปีแรกๆ จะมีประโยชน์ต่อกิจการหลายลักษณะ เช่น กรณีมีกำไรสูงๆ หรือกำลังจะหมดสิทธิประโยชน์การลดอัตราภาษีในตลาดหลักทรัพย์ (5 ปี) หรือกรณี SMEs ที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท ซึ่งต้องถูกเก็บภาษีนิติบุคคลเป็น 30% เป็นต้น
ช่องทาง 6 เงินมัดจำกับการเครดิตภาษี
แนวปฏิบัติของกรมสรรพากร (Revenue Rulings) ในปัจจุบันตีความว่า เงินมัดจำ (Advance Payment) จะต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย (ถ้าเป็นบริการ) แต่ไม่ถือเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีนิติบุคคล ตามมาตรา 65 เกือบ ทั้งสิ้น เว้นแต่จะเข้าเงื่อนไขบางกรณีตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.73/2541
ดังนั้น ช่องทางดังกล่าวจะมีส่วนให้กิจการสามารถลดยอดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระลงมาได้ในปีปัจจุบัน โดยเลื่อนชำระภาษีช้าลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อกระแสเงินสดหมุนเวียน และยังอาจประหยัดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมาได้ในบางกรณี เช่น SMEs ซึ่งมีอัตรากำไรสุทธิเกิน 3 ล้านบาท ในปีปัจจุบัน อัตราภาษีจะตกในช่วง 30% ดังนั้น การเลื่อนการรับรู้รายได้ออกไป ย่อมทำให้รายได้ส่วนนั้นถูกเก็บภาษีในอัตราเริ่มต้นเพียง 15% (พรฎ.#431)
ช่องทาง 7 การขอคืนภาษี
ปัจจุบันธุรกิจบริการส่วนใหญ่ จะถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย (Advance Tax Payment) ไว้ 3% และเมื่อถึงกำหนดยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ตอนปลายปี จะมีสิทธินำไปเครดิตภาษีได้ ซึ่งบางรายมียอดภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ไว้สูงกว่ายอดภาษีที่พึงต้องชำระตอนปลายปี ก็ย่อมมีสิทธิขอคืนภาษีดังกล่าวได้
แฮ่ๆ…ทฤษฎีว่าไว้อย่างนั้น…แต่ในโลกของความเป็นจริง หากมีห่านตัวใดจะได้รับคืนเงินภาษีดังกล่าวอย่างง่ายดายโดยไม่ฟกช้ำ หรือเสียเหงื่อ ก็ต้องชูหัวแม่โป้งให้สองมือว่า “เอ็งแน่ !”
ปัญหาดังกล่าว หากมองระยะสั้นก็ต้องถือเป็นชัยชนะของสรรพากร แต่กรณีจะส่งผลต่อความสมัครใจในการเสียภาษี (Tax Consciousness) ในระยะยาว ทำให้ผู้ประกอบการอาจต้องมองหาวิธีลดภาระภาษีหัก ณ ที่จ่าย ลงมา ตัวอย่างเช่น
- การทำสัญญาธุรกิจให้เข้าลักษณะที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราที่ต่ำกว่า เช่น กรณีการเช่ารถยนต์ (5%) อาจทำสัญญาเป็นว่าจ้างขนส่ง (1%) หรือสัญญารับจ้างทำของ (3%) เป็นต้น
- กรณีการเช่าต่อเนื่อง หากเป็นลักษณะลิสซิ่ง (Leasing) ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ท.ป.34/2534)
- การว่าจ้างทำของในลักษณะปกติ ผู้รับจ้างจะรับเหมาค่าแรงพร้อมวัสดุ ก็อาจทำสัญญารับเหมาเฉพาะค่าแรง (3%) โดยค่าซื้อวัสดุเป็นภาระของผู้ว่าจ้าง
ดังนั้น กลยุทธ์ระยะยาวที่ถูกต้องของภาครัฐ ก็คือ จะต้องวางนโยบายคืนภาษีเร็ว โดยขยายมาตรการจัดชั้นตามระดับความน่าเชื่อถือของผู้เสียภาษี ซึ่งวิธีคิดดังกล่าวก็คล้ายกับแนวบริหารร้านบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นของเสี่ยตัน ภาสกรนที (โออิชิ) ที่เตรียมของแพง เช่น ปลาแซลมอน-ซาซิมิ ไว้เติมเต็มในถาดตลอดเวลา ซึ่งได้ผลทางจิตวิทยา ทำให้ลูกค้าไม่แย่งกันตักครั้งละมากๆ ชิ้น
ช่องทาง 8 การบริหารสต๊อกสินค้า
เรื่องของสต๊อกสินค้า ดูจะเป็นยาขมอีก 1 หม้อใหญ่ของธุรกิจผลิต ธุรกิจซื้อมาขายไป ซึ่งมีสินค้ามากชนิด เช่น กรณีของร้านค้าปลีกสะดวกซื้อต่างๆ เช่น 7-Eleven, Carrefour, Lotus เป็นต้น
ประเด็นปัญหามีหลายลักษณะ ดังนี้
(1) กรณีสินค้าขาดจากบัญชีคุม (Stock Book) หากมีการตรวจพบ ก็จะได้รับรางวัลก้อนโต คือ ต้องถูกเก็บ VAT 7% (ถือเป็นการขายตามนิยามในมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร) และต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า (ม.89 (10))
วิธีลดปัญหาดังกล่าวก็คือ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมสินค้าคงคลัง เพื่อลดจำนวนสินค้า ขาดหาย โดยอาจเพิ่มพนักงานควบคุมคลังสินค้า หรือลงทุนด้านคอมพิวเตอร์ เป็นต้น แต่ทั้งนี้จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างจำนวนภาษีกับจำนวนค่าใช้จ่ายในการลงทุนดังกล่าวด้วย
(2) การทำลายเศษซากการผลิต ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาของโรงงานผลิตสินค้าแทบทุกแห่ง เช่น จะคำนวณปริมาณส่วนสูญเสียอย่างไร การแจ้งทำลายสินค้าตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.79/2541 เป็นต้น เพราะถ้าเกิดข้อโต้แย้งกับเจ้าพนักงานฯ ก็อาจถูกประเมินภาษีโดยการปรับลดเปอร์เซ็นต์สูญเสียลงมา หรือคำนวณเป็นสินค้าผลิต โดยลงบัญชีไม่ครบถ้วน เป็นต้น
(3) การยืมสินค้าระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบบการค้าของไทย เช่น บริษัท A ได้รับ คำสั่งซื้อมาม่า 10โหล แต่ตนเองมีสต๊อกสินค้าเพียง 8 โหล จึงต้องยืมจากบริษัท B มาเพื่อส่งมอบแก่ลูกค้า เป็นต้นนั้น กรณีดังกล่าวจะถูกประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล และ VAT เพราะถือเป็นการซื้อขายระหว่าง A กับ B
ช่องทาง 9 ลดหย่อนภาษีเงินปันผล
เป็นที่ทราบกันว่ากรณีผู้รับเงินปันผลเป็นบุคคลธรรมดานั้น จะได้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล (ม.47 ทวิ) ทำให้เสมือนได้รับคืนภาษีเงินได้ส่วนที่บริษัทชำระไว้
สำหรับกรณีผู้รับเงินปันผลเป็นนิติบุคคล ก็ได้สิทธิลดหย่อนภาษีแก่เงินปันผลดังกล่าว ดังนี้
(1) กรณีบริษัทผู้จ่าย และบริษัทผู้รับเงินปันผล เป็นบริษัทจดทะเบียนในไทย บริษัทผู้รับจะได้ลดหย่อน โดยนำเพียงกึ่งหนึ่งของเงินปันผลมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ม. 65 ทวิ (10))
(2) กรณีบริษัทผู้รับเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือเป็น Holding Company (คือ ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายไม่น้อยกว่า 25%) ก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งจำนวนแก่เงินปันผลดังกล่าว
(3) กรณีผู้รับเงินส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าเป็นบริษัทไทย หรือบริษัทต่างประเทศ ที่ประกอบ กิจการในไทย ก็ล้วนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินส่วนแบ่งกำไร
(4) กรณี Venture Capital ได้รับเงินปันผลจากการถือหุ้นในกิจการ SMEs ซึ่งก็ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคล สำหรับเงินปันผล รวมตลอดถึงผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนหุ้น (Capital Gain) (พรฎ.#396 (พ.ศ.2545) แก้ไขโดย#442 (พ.ศ.2548)
(5) กรณีบริษัทได้รับเงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศ (ซึ่งต้องถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายไม่น้อยกว่า 25% และไม่น้อยกว่า 6เดือน) ก็ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งจำนวน สำหรับเงินปันผลดังกล่าวเช่นกัน (ทั้งนี้ เฉพาะเงินปันผลนั้นจะต้องถูกจัดเก็บภาษีในต่างประเทศแล้วไม่ต่ำกว่า 15% ของกำไรสุทธิ (พรฎ.#442 (พ.ศ.2548))
หลายๆ บริษัท มักไม่ทราบถึงสิทธิดังกล่าว ทำให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ชำระภาษีสูงไป ทำนอง “อ้อยเข้า ปากช้าง (สรรพากร)…ขอคืนยากส์ส์จ้า”
ช่องทาง 10 ส่งเสริมการขายอย่างไรให้ถูกใจและถูกเงิน (ภาษี)
การลด แลก แจก แถม เป็นกลวิธีส่งเสริมการขายอย่างหนึ่ง ที่ทุกค่ายธุรกิจการค้ามักเรียกหา และเรียกใช้บริการ โดยเฉพาะยามเมื่อเศรษฐกิจตกสะเก็ด หรือการแข่งขันเข้มข้นดุเดือด
สัจธรรมดังกล่าวพิสูจน์ได้เสมอ ตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ…ผู้เขียนเองก็มักได้รับการกระตุ้นต่อมช็อปปิ้งอยู่บ่อยๆ จากโบรชัวร์บ้าง โทรศัพท์บ้าง บางรายถึงขนาดลงทุนไปค้นพบวันเดือนปีเกิด แล้วส่งบัตรลดราคา (พิเศษ) มาให้ หรือส่งดอกไม้ช่อใหญ่มา Happy Birthday ก็มี…ซึ่งก็เล่นเอาเราเคลิ้มและหวั่นไหวในสารพัดแคมเปญอยู่ไม่น้อย…แฮ่ๆ ดีแต่ว่าในกระเป๋าบ่มีสตางค์เท่านั้นเอง ก็เลยรอดพ้นจากมารผจญ (ความอยากได้) ไปอย่างหวุดหวิด เฉียดฉิว !
กล่าวในมุมภาษี…ผู้เขียนมีอุทาหรณ์สอนใจแก่บรรดาพ่อค้า นักขาย และนักส่งเสริมการขาย หลายประการดังนี้ครับ
(1) ภาระภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลด แลก แจก แถม นั้น กรมสรรพากรวางเงื่อนปมไว้ยุ่บยั่บ ถ้าใครเผลอเดินพลาด อย่างน้อยก็ต้องได้รับบาดเจ็บ หนักหน่อยก็อาจถึงขั้นเข้าห้องไอซียูเชียว
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล มีหมากกลอยู่ที่มาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติว่า กรณีขายสินค้าหรือให้บริการในราคาต่ำกว่าราคาตลาด (เช่น ลดราคา) หรือไม่คิดราคา (เช่น ของแจกแถม) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (เช่น ไม่มี Promotion Campaign รองรับ) ก็จะต้องถูกประเมินรายรับเพิ่ม และเสียภาษีเงินได้ตามราคาตลาด
- VAT ก็วางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขไว้หลายประการ เช่น กำหนดว่า เฉพาะส่วนลดการค้า (Trade Discount) ซึ่งเป็นการลดราคาทันทีที่ตกลงซื้อขาย จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ม. 79 (1)) ส่วนกรณีแจก แถม จะต้องเป็นการแถมพร้อมขาย (VAT #40) เป็นต้น
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีมีการจ่ายรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไว้ 3% ตามข้อ 12/2 ของ ท.ป. 101/2544 เป็นต้น
(2) กลวิธีลอดบ่วงภาษี นั้น ความจริงมีหลักการง่ายๆ คือ จะต้องมีการกำหนดแคมเปญส่งเสริมการขายไว้ชัดเจน และเดินตามเงื่อนไขที่กฎหมายวางไว้ในแต่ละกรณีโดยเคร่งครัด ตัวอย่างเช่น โรงแรมภูเก็ตสะอื้น วางแคมเปญลดราคาค่าห้องพัก 80% ตลอดปี 2548 + ตุ๊กตาสาวใต้ 1 ตัว แก่ผู้ที่เช่าห้องพักเกิน 3 คืน…โรงแรมฯ จะต้องออกใบกำกับภาษีโดยแสดงตัวเลข 3 รายการ คือ ราคาค่าห้อง 10,000 หักส่วนลด 8,000 บาท ราคาสุทธิ 2,000 บาท และระบุในใบกำกับภาษีด้วยว่า มีการแถมตุ๊กตา 1 ตัว มูลค่า 200 บาท เป็นต้น
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า นักธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จ นอกจากจะต้องหูไว (รอบรู้การข่าว การค้า) ตาไว (มีวิสัยทัศน์และอ่านเกม (การค้า) ทะลุ) แล้ว ยังต้องมีจมูกที่ไวด้วย (แฮ่ๆ คือ ต้องดมเก่งจนรู้ว่า หลุมใดเป็น ขุมทรัพย์ หรือหลุมบ่วงภาษี !)
ช่องทาง 11 Thin Capitalization
เป็นการจัดโครงสร้างของเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งมองผลได้เสียได้หลายมิติ คือ มิติการค้า มิติทางการเงิน เป็นต้น …แต่ในที่นี้เราจะถกกันเฉพาะในมุมภาษีอากร
Thin Capitalization เป็นคำที่ฮิตในมุมของการภาษีอากรระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดสรรโครงสร้างของเงินทุนระหว่างทุนจดทะเบียน กับ เงินกู้ยืม
กรณีแหล่งที่มาของเงินทุนทางธุรกิจ (Source of Fund) เกิดจากการระดมทุนจากผู้ถือหุ้น (ทุนจดทะเบียน) ผลทางภาษี ก็คือ ส่วนเกินมูลค่าหุ้นจะไม่ถือเป็นรายได้ของบริษัทฯ เพื่อการรัษฎากร และเมื่อผลประกอบการดี มีกำไรงาม การจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น ก็ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย เช่น กรณีของกฎหมายภาษีอากรไทย ผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทฯ จะได้รับการลดหย่อนภาษีโดยยกเว้นเงินได้กึ่งหนึ่ง หรือยกเว้นทั้งหมด (ถ้าเป็นบริษัทจดทะเบียน หรือHolding Company) ตามนัยมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร หรือหากเป็นผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดา (คนไทย) ก็จะได้รับสิทธิเลือกวิธีเสียภาษีตามมาตรา 47 ทวิ โดยวิธีการเครดิตเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ ซึ่งให้ ผลลัพธ์เป็นNegative Effect ทำให้ภาระภาษีรวมที่ต้องชำระลดลง เป็นต้น
แต่ถ้าเป็นกรณีที่บริษัทกู้ยืมเงินจากหุ้นส่วน หรือบุคคลภายนอก ต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่าย) สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายของบริษัทผู้กู้ ทำให้กำไรสุทธิต่ำลงและชำระภาษีเงินได้น้อยลง ต่างจากการจ่ายเงิน ปันผล ซึ่งไม่สามารถหักเป็นรายจ่ายแต่อย่างใด
ดังนั้น การจัดสรรโครงสร้างของเงินทุนทางธุรกิจ จึงส่งผลต่อภาระภาษีทั้งในระดับบริษัทและระดับ ผู้ถือหุ้น…กฎหมายภาษีของประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงมักกำหนดหลักเกณฑ์ มิให้มีสัดส่วนการกู้ยืมสูงเกินไป
ถ้าจะถามถึงบริษัทไทยและผู้ประกอบการ SMEs ก็สามารถนำแนวคิด (concept) ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางภาษีแก่ตนได้เช่นกัน นอกจากนั้น SMEs และวิสาหกิจไทย ก็ยังมีช่องทางประหยัดภาษีจากวิธีบริหารเงินทุนดำเนินการได้อีก 2 แนวทาง คือ
(1) การจำกัดทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท (พรฎ.#431) ก็จะได้รับสิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมา โดยกำไรสุทธิ 1 ล้านบาทแรก เสีย 15% กำไรสุทธิที่เกิน 1 ล้าน แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษีเพียง25% เท่านั้น
(2) การจดทะเบียนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ MAI หรือ SET ภายใน 5 กันยายน 2548 ก็จะได้รับสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียง 20% และ 25% ตามลำดับเป็นเวลา 5 รอบบัญชี
ช่องทาง 12 การเลือกวิธีบัญชีเพื่อรับรู้รายได้ทางภาษีอากร
พูดถึงเรื่อง “กระบวนทางบัญชีเพื่อประหยัดภาษี” นั้น ประมวลรัษฎากรฉบับปัจจุบันเปิดช่องไว้หลายๆ กรณี แต่ในที่นี้ขอยกตัวอย่างพอสังเขปดังนี้ครับ
(1) ธุรกิจสนามกอล์ฟ (ป.39/2537) ก่อนที่จะเจาะเข้าสู่เนื้อหา…ตามสไตล์ของผู้เขียน คงต้องเกริ่นกล่าวถึงปูมประวัติความเป็นมาซะก่อน
อันว่าแนวทางของ ป.39/2537 นั้น มาจากท่าน ‘หม่อมเต่า’ (ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล) ซึ่งในยุค 2530-2540 นั้น ต้องถือว่าท่านดังมากๆ…แต่วัยรุ่นสมัยนี้ อาจรู้จัก ‘ส.ส.หล่อจิ๋ว’ (ม.ล.อภิมงคล โสณกุล) มากกว่า…ก็ต้องบอกว่า ‘หม่อมเต่า’ คือ คุณพ่อของ ‘หล่อจิ๋ว’ ขอรับ !
‘หม่อมเต่า’ เป็นผู้มีรสนิยมในกีฬากอล์ฟเป็นชีวิตจิตใจ ดังนั้น สมัยเป็นอธิบดีกรมสรรพากร จึงวางแนวปฏิบัติในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับค่าสมาชิกสนามกอล์ฟ (Membership Fee) ไว้ว่า ผู้ประกอบกิจการสนามกอล์ฟมีสิทธิเลือกวิธีคำนวณรายได้เพื่อการรัษฎากรได้ 2 วิธี คือ นำรายรับมาเฉลี่ยตามส่วนแห่งจำนวนปีของการเป็นสมาชิก หรือถือเป็นรายได้ทันทีทั้งจำนวนก็ได้…แฮ่ๆ แน่นอนว่า ฝูงห่าน (ธุรกิจสนามกอล์ฟ) ย่อมต้องเลือกวิธีกระจายรายได้เป็นหลายๆ ปี เพราะทำให้เสียภาษีช้าลง
(2) ธุรกิจค้าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันนี้ ต้องคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยวิธีผ่อนชำระ (Modified instalment method) ตามนัยแห่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.61/2539 ซึ่งต่างจากวิธี instalment แท้ๆ ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 26 ตรงที่ต้องนำเงินมัดจำมาเสียภาษีด้วย
ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของสภาวิชาชีพบัญชี (เดิมคือ สมาคมนักบัญชีฯ) เข้าร่วมพิจารณาปรับปรุงประมวลรัษฎากร ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือการแก้ไขหลักเกณฑ์การคำนวณรายได้ตามเกณฑ์สิทธิ (ภาษีอากร) ให้สอดคล้องกับเกณฑ์คงค้าง (ตามหลักบัญชี)
กล่าวสำหรับกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ฯ นั้น มีแนวคิดว่าจะยอมรับให้นำเอาหลักเกณฑ์การรับรู้รายได้ตามมาตรฐานการบัญชี #26 ทั้ง 3 วิธี มาเป็นเกณฑ์ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย…ซึ่งกรณีดังกล่าวก็จะทำให้กฎหมายภาษีสอดคล้องกับประเพณีการค้าและกรมสรรพากรก็มิได้เสียประโยชน์แต่อย่างใดในภาพรวม เพราะไม่ว่ากิจการจะเลือกวิธีการบัญชีแบบใด ก็ล้วนมีผลลัพธ์รวม (กำไรสุทธิรวมตลอดโครงการ) เท่ากันทุกวิธี…นี่ก็รอมา 2 ปีแล้ว ยังไม่มีวี่แววจะคลอดคำสั่ง ท.ป.1/2528 (ฉบับปรับปรุง) ซะที เพราะที่นี่ (คือสไตล์) ประเทศไทย !
ช่องทาง 13 เสียภาษีให้สอดคล้องกับกฎหมาย
เป็นที่ทราบกันว่าบทบัญญัติของกฎหมายภาษีของบ้านเรา มีความสลับซับซ้อนพอสมควร เพราะมีความแตกต่างจากประเพณีการค้าและหลักการบัญชีหลายประการ จึงทำให้ผู้เสียภาษีส่วนใหญ่มักปฏิบัติผิดพลาดอยู่เนืองๆ ตัวอย่างเช่น
(1) กรณีการตัดจำหน่าย ‘หนี้สูญ (bad debt)’ นั้น มาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร จะยอมรับเฉพาะ ‘หนี้สูญ’ ที่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ของ กฎกระทรวง (ฉบับที่ 186) เท่านั้นที่จะถือเป็นรายจ่ายทางภาษีอากรได้ ส่วน ‘หนี้สงสัยจะสูญ (doubtful debt)’ นั้นไม่เคยอยู่ในสาระบบของประมวลรัษฎากรเลย จึงไม่อาจตัดเป็นรายจ่ายในแบบ ภ.ง.ด.50 (เว้นแต่กรณี “เงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญ หรือหนี้สงสัยจะสูญ สำหรับหนี้จากการให้ สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ได้กันไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้เฉพาะส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเงินสำรองประเภทเดียวกัน ที่ปรากฏในงบดุลของรอบระยะเวลาบัญชีก่อน…” (มาตรา 65 ตรี (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร)
นอกจากนั้น กฎเกณฑ์และเงื่อนไขการตัดหนี้สูญทางภาษี ก็ยังโหดและหินมากๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ VAT (ตามประกาศอธิบดี # 85 ลว. 9 ก.พ. 2542) ก็ตาม…ดังนั้น ถ้าท่านคิดจะเสี่ยง ตัดจ่ายหนี้สูญ ก็จำต้องมีคาถา ‘เกราะเพชรเจ็ดชั้น’ ไว้คุ้มตัว เพราะโอกาสโดนประเมินกลับมีสูงมาก
(2) กรณีจะแก้ปัญหาการค้าตกต่ำด้วยวิธีควบโอนกิจการ หรือโอนทรัพย์สิน โอนหุ้น เพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจ แม้กฎหมายปัจจุบันจะยกเว้นภาษีให้มากมาย แต่ผู้โอนและผู้รับโอนจะต้องเข้าเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ด้วย จึงจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว เช่น กรณีปลดหนี้ให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน จะต้องเป็นตามหลักเกณฑ์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดและจะต้องกระทำในช่วงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2548 เท่านั้น ส่วนลดดังกล่าว จึงจะไม่ถือเป็นรายได้ของลูกหนี้ เป็นต้น (การยกเว้นเงินได้เนื่องจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินนั้น ได้มีการขยายระยะเวลาออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2549 (เฉพาะการยกเว้นภาษี SBT จากการโอนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งขยายระยะเวลาสิ้นสุดให้เพียงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 เท่านั้น))
ส่งท้าย
ทุกงานเลี้ยง ย่อมต้องมีวันเลิกลา !
อีก 3 วัน จะเป็นวันสุริยคราส (30 พฤษภาคม 2549 วันสุดท้ายของการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50) แล้ว
ผู้เขียนจึงขออาราธนาให้ท่านผู้ประกอบการทั้งหลาย คิดดี (คำนวณภาษีได้ประหยัดๆ) ฝันดี (คือ เห็นแต่ แม่ย่านางสาวสวยแห่งสรรพากร โดยอย่าได้เจอสรรพากรในปางยักษ์ และช่วยกันเสียภาษีให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยให้ถูกๆ (เงิน) กันถ้วนหน้า นะครับ !
ขอขอบคุณข้อมูล : Tax & Business Magazine

ที่มา: http://www.jarataccountingandlaw.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=333779&Ntype=2